หลักเกณฑ์
– ชายซึ่งมีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี ใน พ.ศ.ใด ให้ไปแสดงตัวต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในท้องที่นั้น (กรณีอยู่ในกรุงเทพมหานครให้แสดงตัวต่อสัสดีเขต) เพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ.นั้น ถ้าไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ จะให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ (อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์) และเชื่อถือได้ไปแจ้งแทนก็ได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
– สูติบัตร
– บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทน
– สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีบิดามารดามิได้อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินให้สำเนาทะเบียนบ้านบิดามารดาไปด้วย)
– กรณี บิดามารดาเป็นบุคคลต่างด้าวจะต้องนำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดาไปแสดงด้วย
– กรณีเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล จะต้องนำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุลไปแสดงด้วย
– กรณีบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว ให้นำหลักฐานใบมรณบัตรไปแสดงด้วย
ค่าธรรมเนียม
– ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
โทษของการฝ่าฝืนไม่ลงบัญชีทหารกองเกินภายในกำหนด
– จำคุกไม่เกินสองเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าบุคคลนั้นสำนึกในความผิดรีบไปแจ้งนายอำเภอเพื่อขอลงบัญชีทหารกองเกินก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ก็จะถูกลงโทษในสถานเบาเพียงจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ