พินัยกรรม
– คำสั่งสุดท้ายของบุคคลที่แสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้อื่น หรือวางข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนอันจะมีผลบังคับ เมื่อตนได้ตายไปแล้ว
คุณสมบัติของผู้ทำพินัยกรรมได้
– ต้องมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ และต้องทำด้วยตนเอง
บุคคลที่จะเป็นพยานในพินัยกรรมได้
– บรรลุนิติภาวะแล้ว
– ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
– ต้องไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง (พยานในพินัยกรรมตลอดจนคู่สมรสของพยานจะเป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้)
ผู้เขียนพินัยกรรม
– ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เขียนเอง อาจให้ผู้อื่นเขียนตามคำสั่งของตนก็ได้ โดยให้ผู้เขียนลงชื่อว่าเป็นผู้เขียน แต่ทั้งผู้เขียนและคู่สมรสของผู้เขียนจะเป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้
แบบของพินัยกรรม
พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง
– ลง วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมจะลงลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้
พินัยกรรมแบบธรรมดา
– ทำเป็นหนังสือ ผู้ทำจะใช้เขียนหรือพิมพ์เอง หรือจะให้คนอื่นเขียนหรือพิมพ์แทนก็ได้
– ลง วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องเซ็นชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนพร้อมกัน ถ้าจะพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพิ่มต่างหากจากพยานเดิมอีก ๒ คน
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอแห่งใดก็ได้
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องแจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ปรากฏในพินัยกรรมให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ แล้วแต่กรณี และต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อย ๒ คน พร้อมกัน
– เมื่อผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอแล้วแต่กรณีจดข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบและอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟังแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานต้องลงลายมือชื่อไว้
– ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ แล้วแต่กรณีต้องลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ทั้งลงไว้ ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมได้ทำขึ้นถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
– ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อขอรับพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นในสมุดทะเบียน หรือจะมอบไว้กับผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ ก็จะได้ใบรับพินัยกรรมยึดถือไว้
พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
– ผู้ทำพินัยกรรมจะทำพินัยกรรมโดยเขียนเองทั้งฉบับ หรือให้ผู้อื่นเขียนให้ก็ได้ แต่ต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมแล้วปิดผนึก
– ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมคาบรอยผนึกนั้น
– นำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อ ผู้อำนวยการเขต ณ สำนักงานเขต หรือนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งใดก็ได้ พร้อมด้วยพยานอย่างน้อย ๒ คน
– ให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดว่าเป็นพินัยกรรมของตน
– ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอจะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม วัน เดือน ปี ที่นำมาแสดงไว้บนซอง และประทับตราประจำตำแหน่ง แล้วผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี, ผู้ทำพินัยกรรม และพยานจะต้องลงลายมือชื่อบนซองนั้น
– พินัยกรรมแบบนี้จะฝากไว้ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ทำพินัยกรรมหรือรับไปก็ได้ เช่นเดียวกับพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (กรณีพิเศษ)
– เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายหรือเวลามีโรคระบาดหรือสงคราม
– ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
– พยานทั้งสองคนต้องไปแสดงตนต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณีโดยมิชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้นทั้งต้องแจ้ง วัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติกรรมพิเศษนั้นไว้ด้วย
– เมื่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี จดข้อความที่พยานแจ้งแล้วพยานทั้งสองต้องลองมือชื่อไว้ ถ้าพยานจะพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ๒ คน
สถานที่ทำพินัยกรรมที่ต้องการให้ทางราชการรับรู้หรือเกี่ยวข้อง
– ขอทำที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอแห่งใดก็ได้ หากประสงค์จะขอทำพินัยกรรมนอกสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอนั้นๆ ด้วย
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงต่อสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ
– เอกสารสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
– บัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
ค่าธรรมเนียม
พินัยกรรมที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจัดทำ มี ๒ แบบ คือ
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
– ทำในสำนักงาน ๕๐ บาท
– ทำนอกสำนักงาน ๑๐๐ บาท
– สำเนาคู่ฉบับๆ ละ ๑๐ บาท
– ค่าพยานไม่เกินวันละ ๕๐ บาท
พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
– ค่าธรรมเนียม ๒๐ บาท
– ค่าพยานไม่เกินวันละ ๕๐ บาท